บ้านรักษ์สมุนไพร
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  |  
 ตะกร้าสินค้า (0)

ความหมาย

เอดส์ มีต้นตอจากคำย่อภาษาอังกฤษ คือ AIDS ซึ่งเป็นคำย่อของคำว่า Acquired Immunodeficiency Syndrome โดยมีความหมายดังนี้

          Acquired หมายถึง ภาวะที่เกิดขึ้นในภายหลัง มิได้เป็นมาแต่กำเนิด หรือ สืบสายเลือดทางพันธุกรรม
   
      Immune
หมายถึง เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทานของร่างกาย
      
   Deficiency
หมายถึง ความบกพร่อง หรือขาด
      
   Syndrome หมายถึง กลุ่มอาการคือโรคที่มีอาการหลาย ๆ อย่างไม่เฉพาะที่ระบบใดระบบหนึ่ง

          ดังนั้นเอดส์จึงหมายถึง กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม โดยที่คณะอนุกรรมการบัญญัติศัพท์แพทย์ของราชบัณฑิตยสถาน ได้ประชุมกันแล้วเห็นว่าคำว่า "เสื่อม" นั้น หมายถึง สิ่งที่เคยดีมาก่อนอยู่แล้วเกิดขาดพร่องไปในภายหลัง ซึ่งน่าจะตรงกับคำว่า Acquired มากกว่าคำว่า "บกพร่อง" ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าขาดตั้งแต่กำเนิดหรือเกิดมาขาดในภายหลัง (ประเสริฐ, 1988)

          เอดส์ เป็นภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อมในคนที่เคยมีสุขภาพแข็งแรงมาก่อน ทำให้มีการติดเชื้อจุลชีพ ซึ่งปกติจะอยู่ร่วมกันกับร่างกายมนุษย์โดยไม่ก่อโรค

          เอดส์ เป็นลักษณะของภูมิคุ้มกันชนิดเซล (Cell-mediated immunity) เสียไป จึงทำให้เกิดลักษณะทางคลินิกที่รุนแรง และที่พบบ่อยคือการติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic infection) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อนิวโมซิสติส คารินิไอ (Pneumocystis carinii) ที่ปอด หรือมะเร็งที่ปกติไม่พบในคนที่อายุน้อยกว่า 60 ปี คือมะเร็งแคโปสิ ซาร์โคมา (Kaposi's sarcoma)

          ศูนย์ควบคุมโรค (Centers for Disease Control) ของสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดความหมายของคำว่า เอดส์ เป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2525 ว่าเป็นภาวะภูมิคุ้มกันชนิดเซลเสื่อม ทำให้เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสและมะเร็งบางอย่างง่าย โดยที่ผู้ป่วยคนนั้นยังไม่สูงอายุเกินไปที่ภูมิคุ้มกันจะเสื่อม หรือได้รับยาที่กดภูมิคุ้มกันอยู่เดิม หรือเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อมแบบปฐมภูมิ (Primary immune deficiency) หลังจากมีการทดสอบแอนติบอดี้ เพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีแล้ว ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกาได้นำเอาผลของการตรวจนั้น เข้ามาประกอบในการวินิจฉัยเอดส์ด้วย โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่ไม่มีผลการตรวจแอนติบอดี้ต่อเอชไอวี กรณีที่แอนติบอดี้ต่อเอชไอวีให้ผลบวกและกรณีที่แอนติบอดี้ต่อเอชไอวีให้ผลลบ แต่ยังน่าที่จะเป็นเอดส์อยู่ โดยได้ปรับปรุงความหมายของเอดส์ใน ปี พ.ศ.2530 โดยกำหนดรายชื่อโรคติดเชื้อฉวยโอกาส มะเร็งบางชนิด อาการทางจิตประสาท และอาการผอมแห้ง (Wasting syndrome) ร่วมกับท้องร่วง ที่จะใช้วินิจฉัยว่าเป็น เอดส์เต็มขั้น โดยได้ให้คำนิยามของโรคต่าง ๆ และวิธีการวินิจฉัยไว้อย่างชัดเจน

          เอดส์ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human immumnodeficiency virus) ไวรัสนี้จะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ไม่สามารถป้องกันภยันตรายจากโรคติดเชื้ออื่น ๆ หรือโรคมะเร็งบางชนิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดเชื้อ หรือโรคมะเร็งประเภทฉวยโอกาส ผู้ป่วย เอดส์มักจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว

          เอดส์ คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง เข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน หรือกลไกต่อต้านเชื้อโรคของร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันลดน้อยลงหรือไม่มีเลย ร่างกายจึงติดเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ได้ง่ายแม้กระทั่งเชื้อที่พบทั่วไปในธรรมชาติและไม่ทำอันตรายต่อคนปกติ ก็จะเป็นอันตรายสำหรับผู้ติดเชื้อเอดส์ ที่มีระบบภูมิคุ้มกันลดน้อยลง นอกจากนี้ยังอาจพบอาการของโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งผิวหนังบางชนิดที่ปกติไม่พบบ่อย ความเจ็บป่วยเหล่านี้อาจมีความรุนแรงและทำให้ตายได้

          สรุปได้ว่า เอดส์ หมายถึง กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันชนิดเซลเสื่อมที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ทำให้เกิดโรคจากเชื้อฉวยโอกาส เช่น นิวโมซิสติส คารินิไอ มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งแคโปสิซาร์โคมาในคนที่อายุน้อยกว่า 60 ปี มีอาการทางจิตประสาท และอาการผอมแห้งร่วมกับท้องร่วง

ความเป็นมา

ได้มีรายงานในวงการแพทย์เป็นครั้งแรกเกี่ยวกับโรคเอดส์ ในเดือนมิถุนายน 2524 ในประเทศสหรัฐอเมริกาว่าในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2523 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2524 พบโรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมซิสติสคารินิไอ ในชายรักร่วมเพศ 5 คน ในโรงพยาบาล 3 แห่ง ของเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งโรคนี้พบได้น้อยมากในคนที่สุขภาพดี ชายทั้ง 5 คนนี้เคยเป็นคนแข็งแรงดีมาก่อน ไม่มีประวัติรับยากดภูมิคุ้มกันและจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า ภูมิคุ้มกันชนิดเซลเสียไปด้วย

          การศึกษาย้อนหลังพบว่าโรคเอดส์ เริ่มปรากฏในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2521 แล้ว แต่เพิ่งจะมารายงานในปี 2524 และถ้าศึกษาซีรั่มที่เก็บย้อนหลังไปนานๆ จะพบว่าในประเทศอัฟริกาเองก็พบหลักฐานของการติดเชื้อโรคเอดส์ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2513 (ประพันธ์, 2532) และในขณะที่รายงานโรค เอดส์เป็นครั้งแรก ในสหรัฐอเมริกานั้น ประเทศอื่น ๆ ในแถบอื่น ก็มีผู้ป่วยเช่นเดียวกัน (วิวัฒน์, 2532) เช่น ในทวีปยุโรป ภายหลังที่มีข่าวระบาดของโรคในสหรัฐอเมริกา จึงได้มีการตื่นตัวเฝ้าระวังโรค โดยการศึกษาย้อนหลังในประเทศฝรั่งเศส พบผู้ป่วยเอดส์ รายแรกในปี 2522 ส่วนในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์นั้น พบผู้ป่วย เอดส์ รายแรกในปี 2525 ในประเทศญี่ปุ่นรายงานผู้ป่วยเอดส์ รายแรกเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2528 สำหรับในประเทศไทยเริ่มมีการรายงานผู้ป่วย

          เอดส์ครั้งแรกจากโรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2527 นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลา 2 ปี จึงทราบว่าโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส  และอีก 2 ปีต่อมา คือในปี 2528 จึงสามารถคิดค้นวิธีการตรวจหาแอนติบอดี้ต่อเชื้อไวรัสโดยวิธีอีไลซ่า

การระบาด

  การระบาดของโรคเอดส์ ที่แพร่กระจายไปอย่างมากมายในปัจจุบันนั้น สามารถแยกออกเป็นการระบาด 3 ครั้งติดต่อกัน คือ

          1. การระบาดของการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะเริ่มระบาดเมื่อไร และจากที่ใดแต่ที่แน่ๆ คือ เชื้อไวรัสได้แพร่ไปหลายประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ประมาณปี 2518 และปัจจุบันนี้อาจจะแพร่ไปทุกประเทศแล้ว

          2. การระบาดของโรคเอดส์ ประมาณปี 2520-2521 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการแสดงออกทางอาการเจ็บป่วยของผู้ติดเชื้อ หลังจากมีระยะฟักตัวช่วงระยะเวลาหนึ่ง และในช่วงปี 2525-2530 การระบาดเริ่มเป็นแบบกระจายทั่ว (Pandemic) กล่าวคือระบาดไปหลายๆ ประเทศพร้อมกัน และกระจายไปหลาย ๆ ประเทศพร้อมกัน และกระจายไปในทุกทวีป

          3. การระบาดของผลกระทบที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการระบาดของโรค เอดส์ ได้แก่ ด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง การระบาดนี้แพร่ไปได้อย่างรวดเร็ว และมีผลกระทบแม้ในประเทศที่ไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อหรือรายงานผู้ป่วย เอดส์เลย ผลกระทบที่สำคัญได้แก่ การไล่ผู้ติดเชื้อออกจากงาน การไม่ยอมรับสมาชิกที่เป็นผู้ป่วย หรือผู้ติดเชื้อเข้าในครอบครัวหรือชุมชน การไม่ยอมรับเด็กที่ติดเชื้อเข้าศึกษาในโรงเรียน ตลอดจนการออกฎหมายให้มีการตรวจ เอดส์ ก่อนเข้าประเทศ เพื่อสกัดกั้นคนจากประเทศอื่น ที่อาจติดเชื้อ เป็นต้น

การระบาดของโรคเอดส์ แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ

          การระบาดรูปแบบที่ 1 เป็นลักษณะการระบาดในประเทศอุตสาหกรรมที่มีรายงานผู้ป่วย เอดส์เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา แม็กซิโก แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ส่วนหนึ่งของลาตินอเมริกา และประเทศแถบยุโรปตะวันตก ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชายรักร่วมเพศ (gay) หรือชายรักสองเพศ (bisexual) และติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด อัตราส่วนของผู้ป่วยชายต่อหญิงเท่ากับ 10:1 ถึง 5:1

          การระบาดรูปแบบที่ 2 เป็นการระบาดที่พบในอัฟริกากลาง อัฟริกาตะวันออก และอัฟริกาใต้ และพบในบางส่วนของลาตินอเมริกา การระบาดของโรคเอดส์ จะเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์แบบรักต่างเพศเป็นส่วนใหญ่ อัตราส่วนผู้ป่วยชายต่อหญิง ประมาณ 1:1

          การระบาดรูปแบบที่ 3 เป็นการระบาดที่พบใน ยุโรปตะวันออก อัฟริกาเหนือ ประเทศแถบตะวันออกกลาง เอเชีย และประเทศส่วนใหญ่แถบแปซิฟิก รวมถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์จำนวนผู้ป่วยที่รายงานมีจำนวนน้อย ลักษณะผู้ป่วยที่รายงานมีทั้ง 2 แบบ คือ ในรูปแบบของการระบาดที่ 1 และที่ 2

          การระบาดในรูปแบบที่ 1 และ 2 นั้นเริ่มในปลายทศวรรษ 1970 ส่วนการแพร่กระจายเชื้อในรูปแบบที่ 3 นั้น เริ่มในต้นหรือกลางทศวรรษ 1980

การระบาดของโรคเอดส์ในประเทศไทย แบ่งได้เป็น 5 ระยะ

          ระยะที่ 1 ในช่วงทศวรรษ 2520 เป็นระยะที่โรคเอดส์คงถูกนำเข้ามาในประเทศ การระบาดของเชื้อเอดส์คงจำกัดในกลุ่มคนจำนวนน้อย และมีพฤติกรรมพิเศษ เช่น ในกลุ่มชายรักร่วมเพศ เริ่มตรวจพบผู้ป่วยเอดส์บ้าง แต่เกือบทั้งหมดเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ

          ระยะที่ 2 การระบาดของโรค เอดส์ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2531 พบในกลุ่มผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดโดยอัตราความชุก และการติดเชื้อ เอดส์ ในกลุ่มผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากต่ำกว่าร้อยละ 1 ในปลายปี พ.ศ.2530 เป็นสูงกว่าร้อยละ 40 ในช่วงปลายปี พ.ศ.2531 มีการคาดคะเนว่าการระบาดครั้งนี้ อาจมีความสัมพันธ์กับการปล่อยผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดจำนวนมาก ออกจากเรือนจำในช่วงปลายปี พ.ศ.2530

          ระยะที่ 3 การระบาดของโรค เอดส์ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2532 ในกลุ่มหญิงบริการทางเพศเชื่อว่าการติดเชื้อเอดส์ ในกลุ่มนี้ น่าจะเกิดจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดรักต่างเพศ จากการเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อ เอดส์เฉพาะพื้นที่ในเดือนมิถุนายน 2532 มีการตรวจพบอัตราความชุกของหญิงบริการทางเพศสูงถึงร้อยละ 44 การสำรวจต่อมาในกลุ่มนี้ คงพบแนวโน้มของการติดเชื้อเอดส์สูงขึ้นเรื่อยๆ และตรวจพบบนทุก ๆ ภาคตามมาในปี พ.ศ.2533

          ระยะที่ 4 การระบาดของโรค เอดส์ในกลุ่มชายที่เที่ยวหญิงบริการ พ.ศ.2533 คาดว่าจะมีประชาชนที่เป็นชายที่อยู่ในวัยที่จะเที่ยวได้ ประมาณ 13-25 ล้านคน ในจำนวนนี้อย่างน้อยร้อยละ 50 เคยเที่ยวหญิงบริการ จากข้อมูลการสำรวจอัตราความชุกของการติดเชื้อ เอดส์ในกลุ่มชายที่มาขอตรวจกามโรคสูงถึงร้อยละ 4.2 ซึ่งเป็นตัวชี้วัดได้อย่างดีการแพร่ระบาดในกลุ่มนี้จะยังคงดำเนินควบคู่ไปกับกลุ่มหญิงบริการ หากค่านิยมและพฤติกรรมการเที่ยวหญิงบริการยังไม่เปลี่ยนแปลง

          ระยะที่ 5 เป็นระยะที่คาดว่าอีก 5-20 ปี จะพบการระบาดของเชื้อเอดส์ในหญิงทั่วไป คือ หญิงที่กำลังจะแต่งงานหรือหญิงที่เป็นแม่บ้านและลูกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อ เอดส์ หากไม่มีการป้องกันที่ดี

โรคที่มากับเอดส์

 โรคฉวยโอกาส (Opportunistic Infectione-OIs) คือโรคที่จะค่อยเกิดกับคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์ดี โรคฉวยโอกาสที่มักพบในผู้ป่วยโรคเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีดังนี้

          1.โรคราในปาก (Candidiasis) เป็นการติดเชื้อจำพวกราในบริเวณช่องปาก ลำคอ และในช่องคลอด
        
 2.Cytomegalovirus
(CMV) เป็นการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้ตาอักเสบจนอาจถึงขั้นตาบอด
      
  3.โรคพุพอง
(Herpes simplex viruses) อาจเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะสืบพันธ์ (เป็นการอักเสบที่พบบ่อยที่ที่สุด แต่สำหรับการระบาดที่รุนแรง ผู้ป่วยอาจเป็นได้บ่อยและรุนแรงมากขึ้น)
        
4.ปอดบวม
(Pneumocystis pneumonia-PCP) เป็นการอักเสบอันเกิดจากเชื้อราที่อาจทำให้ผู้ป่วยเป็นปอดบวมและเป็นอันตรายถึงชีวิต
         
5.โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
(Toxoplasmosis-Toxo) เป็นการติดเชื้อโปรโตซัวในสมอง
   
    6.วัณโรค (Tuberculosis-TB) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำลายปอดและทำให้ให้เยื่อหุ้มอักเสบ วัณโรคเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่คร่าชีวิตผู้ป่วยโรคเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก

การติดต่อ

ในทางระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อนั้น ต้องพิจารณาถึงตัวที่เป็นแหล่งอาศัยของเชื้อ (reservior) ทางที่เชื้อออก ทางที่เชื้อเข้า และตัวที่เป็นแหล่งให้เชื้อเข้าไปอยู่ (host) ดังนั้นการติดต่อ คือ การที่เชื้อออกจากพาหะนำโรค ไปเข้าอยู่ในแหล่งใหม่

          สำหรับโรคเอดส์ แหล่งอาศัยของเชื้อ คือ "คน" เมื่อสารน้ำที่ออกจากผู้ที่ติดเชื้อ เช่น เลือด น้ำอสุจิ หรือน้ำคัดหลั่งจากช่องคลอด สู่สิ่งแวดล้อมภายนอก เชื้อจะไม่มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่กี่ชั่วโมงก็จะตาย แมลงต่าง ๆ รวมทั้งยุงไม่ใช่แหล่งอาศัย หรือ ตัวพาหะนำโรคดังนั้นโรคเอดส์ สามารถติดต่อกันได้หลายทาง ได้แก่

1. ทางเพศสัมพันธ์ (sexual transmission)
2. ทางเลือด (blood transmission)
3. ผ่านจากแม่ไปสู่ลูก (vertical transmission)

1. การติดต่อทางเพศสัมพันธ์
          โรคเอดส์สามารถติดต่อได้ทั้งจากชายสู่หญิง หญิงสู่ชาย ชายสู่ชาย นั่นคือการมีเพศสัมพันธ์แบบรักต่างเพศ รักร่วมเพศ และ รักสองเพศ แม้ว่าความเสี่ยงของการติดเชื้อ จากการมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวจะมีน้อย แต่ก็เกิดขึ้นได้และความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ามีเพศสัมพันธ์หลาย ๆ ครั้ง ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชาย ในการรับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ มีการศึกษาพบว่า คู่นอนของผู้ติดเชื้อเอดส์กว่าร้อยละ 50 จะติดเชื้อเอดส์ไปด้วย
          พฤติกรรมทางเพศเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น พบว่า การร่วมเพศทางทวารหนัก เสี่ยงมากกว่า การร่วมเพศทางช่องคลอดและทางออรัล (oral sex) และพบว่าการร่วมเพศทางออรัลเสี่ยงน้อยที่สุด ปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อคือ การมีแผลหรือรอยถลอกบริเวณเยื่อบุอวัยวะเพศ เพราะเป็นทางให้เชื้อเข้าได้ง่าย การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ หรือ มีความสำส่อนทางเพศ การมีอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส โรคเริม แผลริมอ่อน หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบและอาจขึ้นอยู่กับความเจ็บป่วย หรือระยะของโรคเอดส์ของคู่นอนที่กำลังติดเชื้อด้วย พบว่าผู้ป่วยในระยะแรกที่ได้รับเชื้อหรือระยะ "viremia" และระยะที่เป็นเอดส์เต็มขั้น จะแพร่เชื้อได้มากกว่า ระยะที่ตรวจพบแอนติบอดี้ต่อเชื้อเอชไอวี
          จะเห็นได้ว่า กลุ่มบุคคลที่มีการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ โดยอาชีพ ได้แก่ กลุ่มหญิงบริการ และชายบริการเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสูงในการติดเชื้อเอดส์ และเป็นกลุ่มที่มีการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้ใช้บริการได้สูง หากไม่มีการป้องกันที่ดี

2. การติดต่อทางเลือด
          พบได้บ่อยจากการรับเลือดหรือผลิตภัณฑ์ของเลือด ขณะทำการผ่าตัด หรือเพื่อรักษาโรคเลือด บางชนิด การใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาที่ปนเปื้อนเชื้อ การปลูกถ่ายอวัยวะหรือการผสมเทียม

          ในระยะแรกของการระบาดของโรคเอดส์ในสหรัฐอเมริกา พบว่ากลุ่มผู้ป่วยฮีโมฟีเลียมีการติดเชื้อเอดส์สูง เนื่องจากกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับปัจจัยในการแข็งตัวของเลือดที่ขาดไป คือ factor VIII ซึ่งขั้นตอนในการเตรียมนั้นทำได้โดยสกัดเอา Factro VIII จากพลาสม่า ซึ่งอาจต้องใช้พลาสม่ามากกว่า 1 ยูนิต นั่นคือใช้เลือดจากผู้บริจาคมากกว่า 1 คน โอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อเอดส์จึงมีมากขึ้น

          จากการรายงานของศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา พบว่าในปี พ.ศ.2531 มีผู้ป่วยเอดส์จากการรับเลือดจำนวน 377 ราย พบว่าเป็นผู้ป่วยที่ได้รับเลือดหลังปี พ.ศ.2528 เพียง 14 รายเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2532 พบว่าผู้ป่วยเอดส์จากการรับเลือดเพิ่มขึ้นเป็น 793 ราย ทั้งนี้อาจเนื่องจากเป็นการติดเชื้อตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นระยะแฝงของโรค เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 เป็นต้นมา ได้มีการตรวจเลือดก่อนให้ผู้ป่วยทุกราย แต่ข้อจำกัดของการตรวจหาแอนติบอดี้ต่อเชื้อเอชไอวีในช่วงที่ผู้ป่วยเริ่มรับเชื้อ จนถึงช่วงก่อนการที่ร่างกายผู้ป่วยจะสร้างแอนติบอดี้ (Windowperiod) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลา 2-3 เดือนหลังจากได้รับเชื้อแต่บางรายอาจใช้เวลานานถึง 3 ปีครึ่งหรือบางรายอาจนานกว่า 8 ปี นั่นคือ ช่วงที่ตรวจอาจเป็นช่วง "window period" จึงทำให้ผลเลือดเป็นลบปลอม

          สำหรับในประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ.2530 มีคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกมาวิเคราะห์ และประเมินโครงการโรคเอดส์ เพื่อจะให้การสนับสนุนโครงการระยะสั้นของไทย และได้แสดงความคิดเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดทุกขวด เพราะสิ้นเปลืองมาก แต่ในความเป็นจริงสำหรับประเทศไทยนั้น ผู้ที่บริจาคเลือดมักเป็นผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีด และผู้ต้องขัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ติดยาเสพติด และเป็นช่วงที่มีการปล่อยผู้ติดยาเสพติดจำนวนมาก ออกจากเรือนจำ ร่วมกับมีข่าวของคุณฉะอ้อน เสือสุ่ม ซึ่งเป็นผู้ป่วยเอดส์ ที่เกิดจากการรับเลือดคนแรกของประเทศไทย ทำให้ผู้แทนฝ่ายไทยไม่ยินยอมตามคำแนะนำ จะขอตรวจเลือดทุกขวดทั่วประเทศ เพื่อความปลอดภัยของผู้รับเลือด (วิวัฒน์, 2534) ศูนย์บริการโลหิตสภากาชาดไทย จึงได้ตรวจเลือดทุกหน่วยตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2530 (จันทพงษ์, 2531)

          ในกลุ่มผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเอดส์สูงมากจากการใช้เข็ม และกระบอกฉีดยาร่วมกัน เนื่องจากต้องการแสดงความเป็นเพื่อนตายร่วมสายเลือด และต้องการแสดงว่าเป็นพวกเดียวกัน บางคนไม่สามารถหาเข็ม และกระบอกฉีดยาแยกใช้เฉพาะตัวได้ เนื่องจากไม่มีเงิน หรือช่วงที่อยากยามาก ๆ หรือเสี้ยนยานั้นจะควบคุมตัวเองไม่ได้ ดังนั้นหากคนแรกติดเชื้อ คนที่สองซึ่งนำเอาเข็มที่คนแรกใช้แล้วมาใช้อีก ก็จะติดเชื้อโดยตรงจากเลือดของคนแรกที่ติดอยู่ปลายเข็มนั้น

          สำหรับการผสมเทียมนั้น พบอุบัติการณ์การนำเชื้ออสุจิที่ติดเชื้อเอชไอวี เข้าไปผสมเทียมแล้วในสหรัฐอเมริกา แต่ในประเทศไทยยังไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว แวนโวริส และคณะ ได้ศึกษาเชื้อไวรัสในน้ำอสุจิ โดยนำเลือดและน้ำอสุจิจากชายรักร่วมเพศที่ติดเชื้อเอดส์ จำนวน 25 ราย มาศึกษา โดยวิธี Polymerase chain reaction พบมียีโนมของไวรัสเอชไอวี ในน้ำอสุจิเพียง 1 รายเท่านั้น แต่เมื่อทำการเพาะเชื้อเป็นเวลา 1 เดือน พบ 4 รายใน 24 ตัวอย่าง จากการที่พบเชื้อเอชไอวีในน้ำอสุจิในอัตราที่ต่ำ คณะผู้วิจัยคิดว่า เชื้อเอชไอวี อาจติดอยู่ในเม็ดเลือดขาวในน้ำอสุจิ ซึ่งถ้าเป็นจริงดังที่ผู้วิจัยคิด ก็อาจจะแยกเม็ดเลือดขาวออกจากน้ำอสุจิ ก่อนที่จะนำน้ำอสุจิที่เหลือ แต่ตัวอสุจิไปผสมเทียม ซึ่งทำให้การผสมเทียมปลอดภัยจากเชื้อเอชไอวีมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน แต่ไม่สอดคล้องกับการศึกษาของ สคอฟิลค์ และ คณะ ที่รายงานผลการวิจัยในการประชุมเอดส์นานาชาติครั้งที่ 7 ที่อิตาลี ว่าตัวอสุจิไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวีทางอ้อม โดยการกระตุ้นเซลอื่น ๆ และทำให้เซลนั้นถูกไวรัสเอชไอวีรุกรานได้เท่านั้น ตัวอสุจิยังเป็นตำแหน่งที่ไวรัสจะเกาะติดด้วย

3. การติดต่อจากแม่ไปสู่ลูก
          ลูกสามารถติดเชื้อจากแม่ได้ตั้งแต่ก่อนคลอด ขณะคลอด หรือระยะหลังคลอด ซึ่งพบว่าแม่ที่มีการติดเชื้อเอชไอวี มีโอกาสแพร่เชื้อแก่ลูกในครรภ์ได้ร้อยละ 30-50 ปัจจัยที่มีผลต่อการแพร่เชื้อจากแม่ไปสู่ลูกมากหรือน้อยขึ้นกับ ระยะการติดเชื้อของแม่ พบว่าระยะที่มีเชื้อไวรัสเอชไอวีในกระแสเลือดสูงคือ ระยะ Viremia กับระยะที่เป็นเอดส์เต็มขั้น เป็นระยะที่มีการแพร่เชื้อได้มากกว่าระยะอื่น
          การติดเชื้อของลูกจากแม่ในระยะก่อนคลอด คือ การรับเชื้อของลูกในมดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ของการติดต่อจากแม่ไปสู่ลูก กลไกที่เชื้อผ่านจากระบบไหลเวียนของแม่ไปยังระบบไหลเวียนของลูกนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดจากเชื้อไวรัสไปทำลายเซลที่ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายของรก คือ โทรโฟบลาส (Trophoblast) หรืออาจผ่านเซลเยื่อบุของรก โดยกระบวนการซึมผ่านแบบพาสสีบ หรือ แอคตีฟ (passive or active transport)
          การติดเชื้อของลูกระหว่างคลอด คือ การรับเชื้อของลูกโดยการสัมผัสทางตรงกับสิ่งคัดหลั่งจากมดลูก และช่องคลอด ซึ่งพบว่าเป็นแหล่งที่มีเชื้อไวรัสเอชไอวี เป็นอันดับสองรองจากในเลือด
          การติดเชื้อของลูกระยะหลังคลอด คือ การรับเชื้อของลูกจากน้ำนมของแม่ โดยมีการศึกษาพบว่า ลูกติดเชื้อเอชไอวี จากการดูดนมแม่ ที่เพิ่งตรวจพบเลือดบวกต่อเอชไอวีภายหลังคลอดแล้ว และการศึกษาในประเทศออสเตรเลียพบว่า แม่ที่ไม่มีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีรายหนึ่ง มีภาวะตกเลือดหลังคลอด แล้วได้รับเลือดที่มีเชื้อเอชไอวี หลังจากให้ลูกดูดนม 6 สัปดาห์ พบว่าลูกมีการบ่งบอกถึงการมีการติดเชื้อ และจากการตรวจเลือดลูกเมื่ออายุได้ 17 เดือน พบว่ามีเลือดบวกต่อเอชไอวี แต่การติดต่อโดยวิธีนี้พบในอัตราต่ำ

          จากการติดต่อทั้ง 3 วิธีที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่าสารน้ำในร่างกายผู้ป่วยที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อเอชไอวี ได้แก่ เลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอดและมดลูก และน้ำนม จากการศึกษาพบว่าในเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซัยท์ แซลสมอง เลือดและน้ำอสุจิมีเชื้อเอชไอวีอยู่มากสุด รองลงมา คือ สารคัดหลั่งจากช่องคลอดและมดลูก ส่วนในน้ำนมนั้นพบเชื้อเพียงเล็กน้อย นอกจากสารน้ำในร่างกายดังกล่าวแล้ว ยังสามารถพบเชื้อเอชไอวีในสารน้ำต่อไปนี้ได้ ในปริมาณน้อยมากจนไม่มีความสำคัญในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ได้แก่ สารน้ำจากจมูก เสมหะ เหงื่อ น้ำตา อุจจาระ ปัสสาวะ อาเจียน และน้ำลายดังนั้นโรคเอดส์ จึงไม่สามารถแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นจากการสัมผัสทั้งที่โรงเรียน ที่ทำงาน หรือที่บ้าน จากการรับประทานอาหารร่วมกัน การใช้ห้องน้ำร่วมกัน และการจับมือกับคนที่มีเชื้อโรคเอชไอวี นอกเสียจากผู้ที่ไปสัมผัสนั้นมีแผลหรือรอยถลอกของผิวหนัง ซึ่งเป็นทางให้เชื้อเข้าได้ อีกทั้งยุงไม่สามารถนำเชื้อเอชไอวีได้ นั่นคือ โรคเอดส์ไม่สามารถแพร่กระจายอย่างบังเอิญในการอยู่ร่วมกันในสังคม
          จากการศึกษาพบว่าในปัจจุบันของประเทศไทย ผู้ป่วยเอดส์และผู้มีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ มีพฤติกรรมเสี่ยงอันดับหนึ่ง จากเพศสัมพันธ์แบบรักต่างเพศ โดยพบในชาย : หญิง เท่ากับ 7.06 : 1
 

อาการ

ผู้ที่ได้รับเชื้อเอชไอวีจะปรากฎอาการที่แตกต่างกัน มีตั้งแต่ไม่ปรากฎอาการเลยไปจนถึงมีอาการของมะเร็ง หรือโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่ร้ายแรง จนทำให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การจัดแบ่งระยะต่าง ๆ ของการติดเชื้อโรคเอดส์ จึงเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ในการพยากรณ์โรคได้แน่นอนมากขึ้น รวมถึงประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพยาธิกำเนิด การดำเนินของโรค การทดลองยาและวัคซีนด้วย ดังที่ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา ได้แบ่ง ระยะการติดเชื้อโรคเอดส์ ออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

          1. ระยะติดเชื้อเฉียบพลัน (primary HIV infection) โดยมีอาการคล้ายเป็นหวัด
          2. ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ
(asymptomatic infection)
          3. ระยะต่อมน้ำเหลืองโตทั่วไป
(generalized lymphadenopathy)
          4. ระยะเป็นเอดส์
แบ่งเป็น 5 กลุ่มย่อย
                    4.1 กลุ่มมีอาการรบกวนร่างกายเป็นเวลานาน
เช่น ไข้เรื้อรัง และ อุจจาระร่วงเรื้อรังเกิน 1 เดือนน้ำหนักลดเกินกว่าร้อยละ
                          10 ของน้ำหนักเดิม โดยไม่ทราบสาเหตุ ระยะนี้คือ ระยะเอดส์สัมพันธ์ที่เคยใช้เรียกอยู่
                    4.2 กลุ่มที่มีอาการทางระบบประสาท
จะมีอาการความจำเสื่อม หลงลืมง่าย ซึมเศร้า สูญเสียการเคลื่อนไหวที่ละเอียด พบ
                          ว่าร้อยละ 60 ของกลุ่มนี้มีอาการจากการติดเชื้อเอชไอวีเอง โดยไม่รวมการติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งจะแสดงออกมาใน
                          กลุ่มอาการ คือ ในลักษณะของจิตเสื่อม (Dementia) โรคของไขสันหลัง (myelopathy) และโรคของเส้น
                          ประสาทส่วนปลายเสื่อม (peripheral nerve neuropathy)
                    4.3 กลุ่มติดเชื้อฉวยโอกาส

                              4.3.1 การติดเชื้อฉวยโอกาสที่เฉพาะเจาะจงจากความหมายของเอดส์ ที่ระบุไว้ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคปอดบวมจาก
                                        เชื้อนิวโมซิสติส คารินิไอ
                              4.3.2 การติดเชื้อฉวยโอกาสอื่น ๆ เช่น เชื้อราในปาก แฮรี ลิวโคเพลเกีย เป็นต้น
                    4.4 กลุ่มมะเร็งฉวยโอกาส ได้แก่ มะเร็งแคโปสิ ซาร์โคมา ซึ่งมักจะลุกลามบริเวณศีรษะในปาก ลำคอ และ ท่อทางเดิน
                           อาหาร มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือ ลิมโฟมา โดยเฉพาะลิมโฟมาของเนื้อสมองในระยะแรกซึ่งพบได้บ่อย
                    4.5 อื่น ๆ
สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถจัดเข้าในกลุ่มใดได้ เช่น Iymphoid interstitial pnenumnitis ในเด็กที่อายุต่ำ
                           กว่า 15 ปี

          สำหรับในประเทศไทย กองระบาดวิทยาร่วมกับกองโรคเอดส์ เป็นแกนประสานความร่วมมือกับนักวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ ได้แบ่งระยะการติดเชื้อโรคเอดส์ออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
          1. ระยะติดเชื้อที่ไม่ปรากฎอาการ
ตรวจพบแอนติบอดี้ต่อเชื้อเอชไอวีในเลือด
          2. ระยะติดเชื้อที่ปรากฎอาการ
ตรวจพบแอนติบอดี้ต่อเชื้อเอชไอวีในเลือด ร่วมกับมีอาการของโรค หรือกลุ่มอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิคุ้มกัน ดังนี้
                    2.1 ติดเชื้อราในปากหรือมีแฮรี ลิวโคเพลเคีย
                    2.2 โรคงูสวัด บนผิวหนังที่กินบริเวณกว้างกว่า 1 เดอร์มาโตม (dermatome)
                    2.3 มีอาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น สับสน จิตเสื่อม ซึม ชัก ไม่รู้สึกตัว
                    2.4 อุจจาระร่วงเรื้อรังนานกว่า 1 เดือน
                    2.5 ไข้ เป็นประจำ หรือเป็น ๆ หาย ๆ นานกว่า 1 เดือน
                    2.6 น้ำหนักตัวลดเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวเดิม
                    2.7 อ่อนเพลีย หมดแรงมานานกว่า 1 เดือน
                    2.8 ผื่นที่ผิวหนังเรื้อรังนานกว่า 1 เดือน
                    2.9 ซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ และเกล็ดเลือดต่ำ
                    2.10 ไอเรื้อรังติดต่อกันนานกว่า 2 เดือน
                    2.11 ต่อมน้ำเหลืองนอกบริเวณาขาหนีบโตนานกว่า 1 เดือนอย่างน้อย 2 แห่ง
          3. ระยะเป็นเอดส์

                    3.1 ผู้ป่วยเอดส์ ที่มีอาการชี้บ่งของภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อม เป็นผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ ที่ตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวี ร่วมกับโรคชี้
                          บ่งว่ามีภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อมอย่างน้อยโรคใดโรคหนึ่งใน 25 โรค ดังต่อไปนี้
                              3.1.1 ติดเชื้อแคนดิดาของหลอดอาหาร หลอดลม หรือ ปอด
                              3.1.2 มะเร็งบริเวณคอชนิดแพร่กระจาย
                              3.1.3 ค็อคคิดิออยโดมัยโคสิส (Coccidioidomycosis) ชิดแพร่กระจายของอวัยวะต่าง ๆ นอกเหนือจากปอด
                                        หรือต่อมน้ำเหลืองที่คอ หรือขั้วปวด
                              3.1.4 คริพโตค็อคโคสิส (Cryptococcosis)
                              3.1.5 คริพโตค็อคโคสิส และมีอุจจาระร่วง นานมากกว่า 1 เดือน
                              3.1.6 โรคติดเชื้อซัยโตเมกาโลไวรัส ของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง นอกเหนือจาก ตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลือง ในผู้ป่วย
                                        เด็กต่ำกว่า 1 เดือน
                              3.1.7 โรคติดเชื้อชัยโตเมกาโลไวรัส ของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง นอกเหนือจาก ตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลือง ในผู้ป่วย
                                        อายุมากกว่า 1 เดือน
                              3.1.8 มีอาการทางระบบประสาทจากเชื้อเอชไอวี (HIV encephalopathy) เรียก เอชไอวี ดีเม็นเซีย (HIV
                                        dementia), เอดส์ดีเม็นเชีย (AIDS dementia) หรือ subacute encephalitis จากเชื้อเอชไอวี
                              3.1.9 ติดเชื้อเริม ชนิดแผลเรื้อรังหรือเยื่อบุ นานมากกว่า 1 เดือน หรือ ชนิดแพร่กระจายของผิวหนังบริเวณอวัยวะ
                                        ภายใน หรือทั้งตัวในผู้ป่วยอายุเกิน 1 เดือน
                              3.1.10 ฮีสโตปลาสโมสิส (histoplasmosis) ชนิดแพร่กระจายของอวัยวะต่าง ๆ
                              3.1.11 ไอโซสปอเรียสิส (Isosporiasis) และมีอาการอุจจาระร่วงนานเกิน 1 เดือน
                              3.1.12 มะเร็งแคโปสิ ซาร์โคมา ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ
                              3.1.13 ลิมโฟมา ชนิดเบอร์คิท (Burkitt's)
                              3.1.14 ลิมโฟมา ชนิดอิมมูโนบลาสติค (immunoblastic)
                              3.1.15 ลิมโฟมาของเนื้อสมองในระยะแรก
                              3.1.16 ติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียม เอเวียม คอมเพล็กซ์ (Mycobacterium avium complex) หรือ โรคติดเชื้อ
                                          มัยโคแบคทีเรียม แคนซาซิไอ (M. kansasii) ชนิดแพร่กระจาย ซึ่งลุกลามตามอวัยวะต่าง ๆ นอกเหนือ
                                          จากปอด ผิวหนัง และต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือขั้วปอด
                              3.1.17 ติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียม สปีชีสอื่น โดยเป็นชนิดแพร่กระจายนอกเหนือจากปอด
                              3.1.18 ติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) บริเวณปอด
                              3.1.19 โรคปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรียเป็นซ้ำ ๆ โดยเป็นมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปี
                              3.1.20 โรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมซิสติส คารินิไอ
                              3.1.21 โรคติดเชื้อเพนิซิลเลียม มาร์เนฟฟิไอ (Penicillium marneffei)
                              3.1.22 เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในสมองหลายตำแหน่งอย่างรุนแรง
                              3.1.23 ติดเชื้อแซลโมเน็ลลาในกระแสเลือด (Salmonella septicemia) ซ้ำ ๆ มากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปี
                              3.1.24 ท็อกโซปลาสโมสิส (Toxoplasmosis) ในสมอง ในผู้ป่วยเด็ก อายุเกิน 1 เดือน
                              3.1.25 อาการผอมแห้ง โดยผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวลด มากกว่าร้อยละ 10 ร่วมกับมีอาการอุจจาระร่วงเรื้อรัง หรือมีไข้
                                          เรื้อรังอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 30 วัน ซึ่งไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น มะเร็ง วัณโรค ลำไส้อักเสบ หรือ คริ
                                          พโตสปอริดิโอสิส
                    3.2 ผู้ป่วยเอดส์ที่พบเม็ดเลือดขาว ซีดี 4 ต่ำกว่า 200 ต่อไมโครลิตร เป็นผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุที่ตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวี
                          ร่วมกับตรวจพบ ซีดี 4 ต่ำกว่า 200 ต่อไมโครลิตร อย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อเป็นการยืนยัน เนื่องจากมีการคลาดเคลื่อน
                          ของารตรวจได้ง่าย ในกรณีไม่ปรากฎโรค หรือกลุ่มอาการอื่น ๆ หรือการวินิจฉัยโดยอาศัยโรค หรือ กลุ่มอาการอื่น
                          ๆ ยังไม่แน่นอน
                    3.3 ผู้ป่วยเอดส์ในกลุ่มลูกที่ติดเชื้อจากแม่ แบ่งเป็น 2 กรณี
                              3.3.1 ผู้ป่วยเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 เดือน ซึ่งคลอดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นเอดส์ ถ้าตรวจ
                                        พบอาการหลัก และอาการรอง อย่างละ 2 ข้อ
                                       
1) อาการหลัก (major signs) ได้แก่
                                                  1.1) น้ำหนักลดมากกว่าร้อยละ 10 หรือเลี้ยงไม่โต หรือมีภาวะขาดอาหารมากกว่า หรือเท่ากับระดับ
                                                          สอง อาจมีหรือไม่มีภาวะผิดปกติทางพัฒนาการ
                                                  1.2) มีประวัติถ่ายเหลว 2 ครั้งขึ้นไปต่อวัน เรื้อรัง หรือเป็น ๆ หาย ๆ นานมากกว่า 1 เดือน
                                                  1.3) มีประวัติไข้เรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ นานมากกว่า 1 เดือน อาการแสดงนี้ในบางรายจะปรากฎ
                                                          ชัดเจนขึ้น เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยกำหนดคำนิยามของไข้ คือ อุณหภูมิ
                                                          ร่างกายมากกว่า หรือเท่ากับ 37.5 องศาเซลเซียส
                                                  1.4) มีปัญหาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่รุนแรงมาก หรือ มีอาการต่อเนื่องกัน ร่วมกับภาพ
                                                          รังสีปอด แสดงลักษณะ bilateral reticulonodular interstitial pulmonary
                                                          infiltration ติดต่อกันตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป โดยที่ไม่พบเชื้ออื่นใด และไม่ตอบสนองต่อการรักษา
                                                          ด้วยยาปฏิชีวนะ หรือมีอาการเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในตำแหน่งเดิม หรือตำแหน่งใหม่ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้น
                                                          ไปใน 1 ปี หลังจากรักษาหายในครั้งก่อน
                                       
2) อาการรอง
(minor signs) ได้แก่
                                                  2.1) ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วไป หรือ ตับ ม้ามโต โดยต่อมน้ำเหลือง นอกเหนือบริเวณขาหนีบโตมากกว่า
                                                          1 เซนติเมตร ยกเว้นต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้อศอกโตไม่กำหนดขนาด และ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณ
                                                          ขาหนีบโตมากกว่า 1.5 เซนติเมตร เมื่อรวมกันแล้วมากกว่า หรือเท่ากับ 2 ตำแหน่งขึ้นไป ถ้าเป็น
                                                          2 ข้างในตำแหน่งเดียวกันให้นับเป็น 1 ตำแหน่ง หรือคลำใต้ตับ และ/หรือม้ามโตมากกว่า 2
                                                          เซนติเมตร จากชายโครง
                                                  2.2) ตรวจพบการติดเชื้อราในเยื่อบุปาก
                                                  2.3) มีการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงซ้ำ ๆ หลายครั้ง เช่น หูชั้นกลางอักเสบ คออักเสบ
                                                  2.4) มีอาการไอเรื้อรังติดต่อกันนานมากกว่า 1 เดือน ซึ่งไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยาปฏิชีวนะ
                                                          กรณีเลือกอาการหลัก ข้อ 4 ไม่สามารถใช้อาการนี้เป็นอาการรอง
                                                  2.5) มีผื่นที่ผิวหนังทั่วตัว ลักษณะผื่นแดงอักเสบคล้ายผื่นแพ้เรื้อรัง
                                                  2.6) มีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อเอชไอวี ของแม่ขณะตั้งครรภ์หรือก่อนคลอด
                                                          หรือยืนยันการติดเชื้อเอชไอวีในเด็กหรือตรวจพบแอนติบอดี้ในเด็ก
                              3.3.2 การวินิจฉัยในผู้ป่วยเด็กเสียชีวิตขณะอายุน้อยกว่า 15 เดือน

          อย่างไรก็ตามการที่แบ่งระยะการติดเชื้อโรคเอดส์ดังกล่าวนั้น มิใช่หมายความว่า การเป็นโรคเอดส์ จะเริ่มจากระยะติดเชื้อโดยไม่ปรากฎอาการ แล้วกลายเป็นผู้ติดเชื้อที่ปรากฎอาการ จากนั้นจึงกลายเป็นเอดส์ตามลำดับ ดังตัวอย่างผู้ป่วยติดเชื้อโดยไม่มีอาการอยู่เป็นระยะเวลานาน ต่อมาเกิดอาการปอดบวมจากเชื้อนิวโมซิสติส คารินิไอ ถ้าพิจารณาตามการแบ่งระยะของศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา นั้นคือ การก้าวหน้าของโรคจากระยะที่ 2 คือ ระยะติดเชื้อโดยไม่มีการอาการไม่เป็นระยะที่ 4 กลุ่มย่อย C1 คือ ระยะเป็นเอดส์ กลุ่มติดเชื้อฉวยโอกาสที่เฉพาะเจาะจง เป็นต้น (Beuafoy et a., 1988) จากรายงานของศูนย์ควบคุมการติดเชื้อของสหรัฐอเมริกาพบว่า ร้อยละ 20 - 30 ของผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ จะกลายเป็นเอดส์ในเวลา 5 ปี อีกร้อยละ 20 - 50 จะมีอาการสัมพันธ์กับเอดส์ (กรมควบคุมโรคติดต่อ, 2530) นั่นคือ ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้กลายเป็นผู้ป่วยเอดส์ทุกราย

 

วิธีป้องกัน

สารเคลือบช่องคลอด ช่วยลดความความเสี่ยงของการติดเชื้อและการแพร่เชื้อ ทั้งเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพสสัมพันธ์อื่นๆได้มากพอสมควร สารนี้ช่วยทำลายเชื้อจุลลินทรีย์ หรือขัดขวางการติดเชื้อหรืออักเสบ ไม่ให้เกิดขึ้นในบริเวณนั้นๆผู้ใช้จะสามารถควบคุมการติดต่อของโรคได้ด้วยตัวเอง ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังค้นคว้าทดลองเพื่อพัฒนาสารเคลือบช่องคลอดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันเชื้อเอชไอวี

          ถุงยางอนามัย เป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่ระหยัดที่สุด และได้ประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อเทียบกับราคาต้นทุน การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอจะช่วยลดอัตราเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างเห็นผลชัดเจน

          วัคซีน เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและเพิ่มศักยภาพให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถป้องกันโรคได้ วัคซีนโรคเอดส์กำลังอยู่ในขั้นการทดลองและพัฒนาโดยนักวิจัย ขณะนี้มีทุนวิจัยจากแหล่งต่างๆทั่วโลกรวมกันเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สำหรับการวิจัยคิดค้นวัคซีนโรคเอดส์ แต่คาดว่ากว่างานวิจัยจะประสบผลสำเร็จคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี

          การเผยแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก (Mother-to-child transmission:MTCT) การแพร่เชื้อแบบนี้สามารถลดจำนวนลงได้ โดยให้หญิงมีครรภ์รับประทานต้านไวรัส (antiretrovirals หรือ ARV)ระหว่างมีครรภ์ไปจนถึงช่วงคลอดบุตร และให้ยากับทารกหลังคลอดไปชั่วระยะหนึ่ง ยาสูตรนี้จะช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก โดยลดอัตราการสะท้อนกลับของ และช่วยป้องกันเด็กไม่ให้ติดเชื้อระหว่างและหลังจากรับเชื้อไวรัส

          การป้องกันหลังการรับเชื้อ (Post Exposure Prophylaxis-PEP) โดยให้รับยาต้านไวรัสหลังการสัมผัสหรือรับเชื้อเอชไอวี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ (มักใช้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดบาดแผลจากเข็มฉีดยาโดยอุบัติเหตุ หรือผู้หญิงที่ถูกข่มขืน) การป้องกันหลังการรับเชื้อสามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงของการติดเชื้อได้มาก แต่ไม่สามารถรับรองผลได้ 100 %

          การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและค่านิยม เป็นการอบรมที่ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เรียน ให้มีความเสี่ยงต่อการการติดเชื้อน้อยลงและลดโอกาสในการรับเชื้อเอชไอวี โปรแกรมดังกล่าวจะส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี ส่งเสริมให้ลดจำนวนคู่นอน ส่งเสริมการฝึกฝนจิตใจเพื่อควบคุมความต้องการของตน และรณรงค์ต่อต้านการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
 

การตรวจหาเชื้อ

   การตรวจวินิจฉัยหาภูมิต่อเชื้อ HIV สามารถทำได้หลายวิธี การตรวจที่ให้ผลเร็วสามารถตรวจจากเลือด น้ำลาย และปัสสาวะ ก่อนการตรวจเลือดผู้ป่วยควรได้รับการปรึกษาถึงผลดีและผลเสียของการตรวจรวมทั้งผลที่จะเกิดขึ้นจากการตรวจ เช่น ความรู้สึกกลัวหรือซึมเศร้า ปัญหาทางสังคมที่อาจจะเกิดขึ้น ปัญหาการจ้างงาน ปัญหาการประกันชีวิต ปัญหาการยอมรับของครอบครัว เป็นต้นแต่การตรวจเลือดหาภูมิต่อเชื้อ HIV มักจะปิดชื่อของผู้รับการตรวจทำให้ปัญหาต่างลดลง

การตรวจ HIV สามารถทำได้หลายวิธีโดยมีความแม่นยำ และราคาต่างๆกัน

          1. การตรวจเลือด ที่ให้ผลเร็วโดยใช้วิธี enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) วิธีนี้ให้ผลเร็วมีความไวและมีความแม่นยำในการตรวจมีความแม่นยำ(sensitivity and specificity of) 99.9%.หากให้ผลบวกต้องยืนยันการวินิจฉัยโดยวิธี Western blot or immunofluorescence assa

          การตรวจวิธีนี้มีข้อควรระวังคือหลังจากได้รับเชื้อจะมีช่วงหนึ่งที่ตรวจเลือดยังไม่พบภูมิต่อเชื้อ HIV เราเรียกช่วงนี้ว่า window period ถ้าหากคนผู้นั้นมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่นใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ร่วมเพศโดยที่ไม่ได้ป้องกัน เราต้องรออีก 6 เดือนเพื่อเจาะเลือดอีกครั้ง ยังมีอีกกรณีที่ต้องระวังคือเมื่อตรวจด้วยวิธี ELISA ให้ผลบวกแต่ผลการตรวจยืนยันโดยวิธี Western blot or immunofluorescence assay ให้ผลบวกหนึ่งแบนกรณีนี้อาจจะเกิดจาก window period, หรือติดเชื้อด้วยเชื้อ hiv อีกชนิดหนึ่ง เช่น HIV-2 หรืออาจจะเกิดจากโรคอื่น นอกจากนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ Influenza vaccine ก็อาจจะให้ผลบวกหลอก การตรวจเลือดหาภูมิหากผลเลือดบวกโดยที่ผู้ป่วยไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อต้องทดสอบซ้ำอีกครั้ง

      
   2. การตรวจปัสสาวะและเยื่อเมือกในปาก มีความแม่นยำและจำเพาะ 99.5 %หากให้ผลบวกต้องตรวจยืนยันโดยวิธี Western blot or immunofluorescence assa

          3. การตรวจเลือดด้วยตัวเอง วิธีการหยดเลือดไว้บนกระดาษแล้วส่งเข้าห้องปฏิบัติการ สามารถรายผลทางโทรศัพท์ มีจำหน่ายตามร้านขายยาแต่มีข้อที่ต้องระวังคือ
                    - ไม่มีการให้คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย ถ้าผลเลือดบวกผู้ป่วยควรจะได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวผู้ป่วยบางคนอาจจะ
                       ตัดสินใจทำร้ายตัวเองทั้งที่โรคนี้สามารถควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามได้ ถ้าผลเลือดลบควรจะได้รับคำแนะนำในการป้องกัน
                       การติดเชื้อ HIV
                    - การทดสอบนี้อาจจะให้ผลบวกหลอกในผู้ป่วยบางรายเพราะไม่ได้มีการคักกรองกลุ่มเสี่ยงเข้าตรวจ

          4. การตรวจหาตัวเชื้อ HIV โดยวิธี HIV RNA (viral load assay) จะตรวจกรณีที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเช่นถูกเข็มฉีดยาจากผู้ป่วยตำ หรือร่วมเพศกับผู้ที่ติดเชื้อโดยที่ไม่ได้ป้องกัน และตรวจไม่พบภูมิคุ้มกันในเลือด การตรวจนี้จะให้ผลบวกก่อนที่ภูมิจะขึ้น แต่ก็มีข้อผิดพลาดกรณีที่พบเชื้อปริมาณน้อย การตรวจเลือดวิธีนี้จะให้ผลบวกก่อนที่ภูมิจะขึ้นเราเรียกการติดเชื้อชนิดนี้ว่า Primary HIV infection ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญในการให้ยาต้านไวรัส HIV
 

ยาต้าน

 ยาต้านไวรัสเอดส์ หมายถึง ยาที่สังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อหยุดยั้งหรือออกฤทธิ์ต้านการแบ่งตัว การยับยั้งการเกาะจับและเข้าเซลล์ (Interference with attachment and entry)
          1. การยับยั้งขบวนการ Reverse Transcription (Inhibition of Reverse Transcription)
          2. การยับยั้งขบวนการ Integration (Inhibition of Proviral Integration)
          3. การยับยั้ง Transcription
          4. การยับยั้ง Post-translation processing

ความรู้เกี่ยวกับยาต้านไวรัสเอดส์
         
ยาต้านไวรัสเอดส์ที่มีใช้ทางคลินิกในปัจจุบัน (Current Antiretroviral Drug in Clinical Use) ในปัจจุบัน ยาต้านไวรัสเอดส์ที่ได้รับการจดทะเบียนโดย U.S.FDA มีทั้งหมด 11 ชนิด ประกอบด้วยยา 3 กลุ่ม คือ

กลุ่ม Nucleoside analongues Reverse Transcriptase Inhibitors

          ได้แก่ AZT , ddC , ddI , d4T , 3TC เป็นยาที่สร้างด้วยการทดแทนหรือเปลี่ยนแปลง side chain ของ nucleosides (thymidine, adenosine, cytidine) การออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้ต้องผ่านขบวนการ phosphorylation ภายในเซลล์ให้กลายเป็น mono-, di-, และ triphosphate compound ในที่สุดจึงจะออกฤทธิ์ได้ กลไกการออกฤทธิ์ที่สำคัญ คือ การแย่งจับกับ HIV-RT (inhibitory competitor) และการหยุดยั้งการเรียงต่อของลำดับเบสของDNA (chain terminator) ในกรณีที่ใช้ยากลุ่มนี้เป็นยาเดี่ยวในการรักษา (monotherapy) จะสามารถลดจำนวนเชื้อในพลาสมาลงได้เพียง 0.3-0.7 log10 หรือ น้อยกว่า 10 เท่า ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ป่วยมีเชื้อ 100,000 ตัวต่อลบ.ซม.การรักษาด้วยnucleoside RTI monontherapy (เช่น AZT หรือ ddI) ณ ประสิทธิภาพสูงสุดของยา ผู้ป่วยรายนี้ก็ยังคงมีจำนวนเชื้ออยู่ในระดับที่มากกว่า10,000ตัวต่อ ลบ.ซม.และประกอบกับปัญหาการดื้อยาที่จะเกิดขึ้นในที่สุด จึงไม่สามารถ ลดอัตราการเกิดเอดส์และอัตราตายได้

กลุ่ม Nonnucleoside Reverse Transcriptase Inhibitors (NNRTIs)
          ได้แก่ nevirapine, efaviren ยาในกลุ่ม Nonnucleoside reverse transcriptase inhibitors หรือ NNRTIs นี้เป็นยาที่มีโครงสร้างและสูตรทางเคมีที่แตกต่างกัน แต่มีฤทธิ์แรง (potent) ในการยับยั้งอย่างจำเพาะต่อ revers transcriptase (RT) ของ HIV-1 เท่านั้น ไม่มีผลยับยั้งเอนไซม์ของ HIV-2 hepatitis, herpes virus และเอนไซม์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแต่อย่างใด และกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างจากยาในกลุ่ม nucleoside analogue RT inhibitors (NRTIs) หลายประการ เช่น NNRTIs เป็น active compounds ที่ออกฤทธิ์ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านขบวนการ phosphorylation หรือ metabolism อื่นใดอีก
          การออกฤทธิ์ของ NNRTIs เป็นแบบ noncompetitive คือไม่มีการแย่งจับแข่งกับ native nucleotidesแต่เป็นการจับHIV-1 RT ตรงบริเวณล่างลงมา (downsteam) จาก catalytic site ยาในกลุ่ม NNRTIs นี้จะถูก metabolize เกือบทั้งสิ้นที่ตับ ข้อดีของยาในกลุ่ม NNRTIs ส่วนใหญ่มีฤทธิ์ยาวสามารถรับประทานเพียงวันเละ 1-2 ครั้งได้เป็นการง่าย (favorable adherence) แต่ข้อเสียคือเกิดการดื้อยารวดเร็วมากโดยเฉพาะเมื่อใช้เดี่ยว ๆ หรือร่วมกับยาในสูตรที่อ่อนหรือล้มเหลวในการรักษามาก่อน และเมื่อเกิดเชื้อดื้อยาจะเกิดการดื้อต่อยาอื่น ๆ ในกลุ่มนี้ด้วย
          ทั้งนี้เนื่องจากยาในกลุ่มนี้มีสูตรโครงสร้างทางเคมีที่แตกต่างกันจริงแต่ตำแหน่งที่จับ (binding pocket) กับเอนไซม์ RTเป็นตำแหน่งเดียวกันหมดนั่นเอง ความน่าสนใจของกลุ่มนี้นอกจากจะใช้เป็นยาตัวหนึ่งในสูตรยาร่วม 3 ชนิด (triple herapy) โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการมาก (not advanced) (เพื่อเก็บ protease inhibitors ไว้ใช้ทีหลัง) แล้ว ยา NNRTIs กลุ่มนี้ เช่น nevirapine และ DMP-226 ยานี้ อาจมีประโยชน์ในสูตรรักษาแบบระยะสั้น(short course)ในการป้องกันการติดเชื้อ HIV จากแม่ไปสู่ลูกได้ซึ่งต้องรอผลการศึกษาที่กำลังดำเนินในต่างประเทศต่อไป

กลุ่ม HIV-1 Protease Inhibitors
          ได้แก่ saquinavir (hard capsule, soft gel capsule), indinavir, ritonavir และ nelfinavir HIV-1 protease เป็น enzyme ของเชื้อ HIV-1 ซึ่งประกอบด้วยโปรตีน 2 สายที่เหมือกัน (symmetrical isomer) ประกอบด้วยกรดอะมิโน (amino acids) 99 ตัว มีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการตัดย่อย gag-pol polypeptide precursor เพื่อทำให้ immature HIV-1 กลายเป็น mature infectious ภายหลังการประกอบรูปร่างไวรัสแล้ว หลายปีที่ผ่านมาจึงมีการพยายามคิดค้นยาเพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ HIV โดยออกฤทธิ์ยับยั้ง HIV-1 protease เรียกยากลุ่มนี้ว่า protease inhibitors (PI) ทั้งโดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับโครงสร้าง 3 มิติ (3-dimensional tructure) ของ HIV-1 protease และการออกแบบโครงสร้าง inhibitor ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (computer modeling) ทำให้มียา protease inhibitors เกิดขึ้นหลายตัว อย่างไรก็ตามยารุ่นแรก ๆ ส่วนใหญ่เป็น petide-based compounds ทำให้มีปัญหาเรื่องการดูดซึม (oral absorption), rapid biliary clearance, poor stability และค่าใช้จ่ายสูงในการผลิต ปัจจุบันยา protease inhibitors รุ่นที่ 2 (second-generation) จะเน้นโครงสร้างเป็น partially peptidic หรือ nonpeptidic ทั้งนี้เพื่อเพิ่มการดูดซึม (bioavailability) นั่นเอง

Forum Names Topics Last Post
General Zone
เว็บบอร์ดหลัก
พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริง
5 5/9/2554 13:11:00
by admin
in รายงานผลการรักษา
แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
สมุนไพรที่สามารถยับยั้งโรคเอดส์ได้ผลที่ยอดเยี่ยม
0
เฮฮา สาระ เรื่องแปลก ๆ
เล่าเรื่องไรก็ได้ บรรเทาทุกข์
0
แจ้งเลขที่พัสดุ(ยืนยันพัสดุถึงมือทุกรายแน่นอน)
แจ้งเลขที่พัสดุ(ยืนยันพัสดุถึงมือทุกรายแน่นอน)
สำหรับสมาชิกเท่านั้น
1 21/9/2554 16:31:00
by Administrator
in แจ้งเลขพัสดุส่ง(UP DATE 21/09/54)
News Zone
ปัญหาและวิธีการแก้ปัญในการรักษา
อาการของผู้รับรักษาจากสมุนไพร ที่แตกต่างกันไป
0

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 117,265 Today: 2 PageView/Month: 57

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...